วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

HA กับ Competency

Competency เป็นเครื่องมือการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่ยังมาแรงในทุกวงการ เมื่อเร็วๆนี้ทาง พรพ.ได้รับเกียรติจาก ดร.จิรประภา อัครบวร จาก NIDA มาเป็นวิทยากรในเรื่องนี้ ท่านให้ความหมายว่า Competency คือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในตำแหน่งงานของแต่ละองค์กร เป็นเหมือน foundation ที่เอาไปใช้ในการสรรหา พัฒนา เลื่อนตำแหน่ง
Competency เพิ่มคุณค่าให้กับคนและองค์กร เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน (Critical incident) พฤติกรรมของคนจะโดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน ในงานที่ง่ายแยกไม่ออกว่าคนที่เก่งกับคนไม่เก่งต่างกันอย่างไร ในงานที่มีการใช้ทักษะมากขึ้น ความกดดันในงานจะเริ่มดึงศักยภาพของคนเก่งที่หลบซ่อนออกมา และในงานปราบเซียน คนเก่งจะทำได้ดีกว่าอย่างชัดเจน การกำหนด Competency จึงควรพิจารณาว่าเราต้องการ Competency อะไรสำหรับงานยากๆหรือเหตุการณ์คับขันมากกว่าที่จะกำหนดจาก Job description ทั่วๆไป
องค์กรที่มีการนำ Competency มาใช้ในการพัฒนาคน จะประสบความสำเร็จสูงกว่า ในทางธุรกิจจะเห็นชัดเจน คือการสร้างผลกำไรได้มากกว่า แต่สำหรับองค์กรภาครัฐ เกิดคำถามขึ้นมาว่าจะวัดความสำเร็จขององค์กร หรือวัดความสำเร็จของการนำ Competency มาใช้ได้อย่างไร
องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการนำ Competency มาใช้ ต้องใช้ควบคู่กับ KPI
KPI ขององค์กรคือเป้าหมาย คือโจทย์ คือสิ่งที่ต้องการบรรลุ
Competency คืออาวุธ หรือวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมาย เพื่อตอบโจทย์
ถ้ามี KPI แต่ไม่มี Competency ก็เหมือนมีเป้าแต่ไม่มีอาวุธ มี Competency แต่ไม่มี KPI ก็ไม่รู้ว่าจะใช้ไปเพื่อตอบโจทย์อะไร เมื่อโจทย์เปลี่ยน Competency ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย
Competency ไม่ใช่แค่เพียงความรู้และทักษะ แต่ครอบคลุมไปถึงบทบาททางสังคม(Social role) ภาพลักษณ์ของตนเอง(Self image) บุคลิกภาพ (Trait) และแรงจูงใจ (Motive)
มีการแบ่ง Competency เป็น 3 ประเภท
1. Core competency เพื่อหล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมที่องค์กรต้องการ
2. Managerial competency เพื่อมุ่งเน้นการจัดการงานให้สำเร็จ เป็นสิงที่บุคลากรทุกคนต้องมี ระดับปฏิบัติก็ต้องมีเพื่อจัดการกับงานของตนเอง ระดับผู้บริหารก็ต้องมีมากขึ้นเพื่อจัดการให้งานของหน่วยงานและองค์กรประสบความสำเร็จ
3. Technical competency เพื่อให้มั่นใจว่ามีความรู้และทักษะในงานทำ

Competency จริงๆแล้วไม่สามารถที่หน่วยงานจะเลียนแบบกันได้ เพราะ Competency เป็นเรื่องของกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องที่จะเอาประสบการณ์จริงและเป้าหมายขององค์กรมาเป็นตัวกำหนด Competency เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละองค์กร ปัจจุบันได้มีการกำหนด list ของ competency มาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้องค์กรทำงานง่ายขึ้นในการคัดเลือก

อ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ได้กล่าวว่า ถ้าองค์กรคิดจะทำเรื่องนี้ ควรทำด้วยความเข้าใจและมีเป้าหมายชัดเจน ไม่ใช่ทำเพื่อให้ผ่าน HA ทั้งนี้ไม่ว่าคิดจะทำเรื่องใดก็ตาม การคิดเพียงแค่ว่าทำเพื่อผ่าน HA จะเป็นการตั้งเป้าหมายที่สั้น ทำให้คำถามและวิธีคิดของเราจะสั้น คือถามแต่ว่า HA จะเอาอะไร แต่ถ้าทำเพื่อเป้าหมายขององค์กร เราจะถามว่าองค์กรของเราต้องการอะไร แล้วกระบวนการเยี่ยมสำรวจก็จะทำให้เราเห็นตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าที่ตั้งใจไว้นั้น บรรลุเป้าหมายหรือไม่

อ่านเพิ่มเติมใน เมดิคอลไทม์ 1-15 มกราคม 2549 โดยอ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล